การประท้วงในประเทศนิการากัว จากความล้มเหลวในการบริหาร
19 พฤศจิกายน 2021การประท้วงในประเทศนิการากัว จากความล้มเหลวในการบริหาร
ไม่ว่าจะในประเทศไหนหากมีความล้มเหลวในการบริหารของรัฐบาล น่าแปลกที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนกลับเป็นฝ่ายจับอาวุธขึ้นมาสร้างความรุนแรงและทำร้ายประชาชนแทน แทนที่พวกเขาจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมือทำสิ่งที่ถูกต้องกับตัดสินใจปกป้องคนบางกลุ่มและใช้กฎหมายเหล่านั้นจงตีผู้ออกมาประท้วงอย่างสันติแทน และเมื่อไหร่ที่ตำรวจเริ่มใช้ความรุนแรง กลุ่มผู้ประท้วงก็จะเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนทำให้ไม่มีฝ่ายไหนได้เปรียบเสียเปรียบกันอีกต่อไป ทุกฝ่ายต่างต้องเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากพบ
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ การประท้วงในประเทศนิการากัว พ.ศ. 2561 ประเทศในอเมริกากลาง ที่มีพื้นที่มากที่สุดแต่กลับมีความหนาแน่นของประชากรปริมาณน้อยที่สุด คนไม่เยอะก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายแต่อย่างใด เพราะในวันที่ 18 เมษายนได้มีผู้ชุมนุมจากหลายเมืองรวมตัวกันเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ต้องการจะทำแผนการปฏิรูประบบหลักประกันสังคมนำโดย นายดานิเอล ออร์เตกา ประธานาธิบดีของนิการากัว ที่ต้องการจะเพิ่มภาษีค่าจ้างและอัตราภาษีเงินได้ และจะลดอัตราการจ่ายบำนาญให้ต่ำลง
จุดเริ่มต้นของการประท้วงเกิดจากความไม่พอใจของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผนการดังกล่าว แต่หลังจากที่การประท้วงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็เริ่มมองเห็นถึงปัญหามากมายในประเทศจนมีเป้าหมายมากกว่าการยกเลิกการปฏิรูปประกันสังคม แต่ยังรวมไปถึงการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมไปอย่างไม่ยุติธรรม ยกเลิกการก่อสร้างคลองนิการากัว เรียกร้องให้ตำรวจยุติการใช้ความรุนแรง ยุติการฆ่าสตรี เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก ทำการฟื้นฟูเสรีภาพของสื่อ ฟื้นฟูสภาการเลือกตั้ง ทำการคุ้มครองชนพื้นเมืองและพื้นที่ของชนพื้นเมืองตามกฎหมายอย่างเป็นรูปประธรรม
การประท้วง ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆจนทำให้มีการปะทะระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมรวมไปถึงผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล หลังจากผ่านการประท้วงไปเพียงแค่ 5 วันเท่านั้นกลับทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 30 คนเลยทีเดียว ทาง รัฐบาลนิการากัวได้มีความพยายามในการผ่อนปรนด้วยการยกเลิกนโยบายปฏิรูปหลักประกันสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้วพร้อมทั้งปล่อยนักโทษจำนวนกว่า 200 คน ประธานสภาการเลือกตั้งสูงสุดได้ตัดสินใจลาออกเช่นเดียวกับผู้อำนวยการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
แต่ถึงอย่างนั้นประชาชนก็ยังรู้สึกไม่พอใจและยังคงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง การประท้วงครั้งนี้ได้กลายมาเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลของ นายดานิเอล ออร์เตกา และเป็นครั้งล่าสุดที่มีความขัดแย้งการเมืองที่เลวร้ายมากที่สุดนับตั้งแต่ การปฏิวัตินิการากัว จบลง