ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก?
24 ธันวาคม 2020พ่อแม่หลายคนคงเคยเจอกับสถานการณ์ที่ลูกมาบอกว่า “ผม/หนูโดนแกล้ง” แล้วจำได้ไหมว่าเราทำอย่างไร? ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก? หรือ บอกกับลูกอย่างไรกันบ้าง?
พ่อแม่บางคนอาจมองว่าการ ถูกแกล้งเป็นเรื่องธรรมดา จึงได้แต่ฟังผ่าน ๆ และไม่ได้ให้ความสนใจ หรืออาจจะตอบลูกไปแบบส่ง ๆ ซึ่งถือว่านั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมา เช่น ลูกเริ่มไม่อยากไปโรงเรียน ผลการเรียนแย่ลง หวาดระแวงกลัวการถูกรังแก หรือบางคนอาจแสดงอาการทางกายที่มีสาเหตุมาจากความเครียดและความวิตกกังวล เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอนไม่หลับ พฤติกรรมถดถอยไปเป็นเด็กเล็ก หรืออาจถึงขั้นมีความคิดในการทำร้ายตัวเอง
ดังนั้นปัญหาการรังแกกัน จึงไม่ควรเป็นแค่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป วันนี้จึงมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ว่าควรทำอย่างไรเมื่อลูกถูกแกล้ง?
- เปลี่ยนทัศนคติ ว่าการที่ลูกมาเล่าปัญหาเรื่องการถูกรังแกไม่ใช่การฟ้อง หรือ การเรียกร้องความสนใจ แต่เป็นการขอความช่วยเหลือจากคนที่ลูกไว้วางใจ
- รับฟังคำบอกเล่าจากลูกอย่างตั้งใจ ไม่แทรกถาม เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าในสิ่งที่ลูกอยากเล่า
- ไม่รีบตัดสิน ไม่ด่วนสรุป ไม่อคติ เช่น เพราะหนูไปแกล้งเพื่อนก่อนหรือเปล่า? เพื่อนคงไม่ได้ตั้งใจหรอกลูก อดทนหน่อยสิลูกเรื่องแค่นี้เอง ฯลฯ
- พยายามฟังและค้นหาว่าลูกรู้สึกอย่างไร? หรือ ลูกต้องการอะไร? เด็กบางคนอาจจะแค่อยากเล่า แต่เด็กบางคนอาจต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม
- ฝึกให้ลูกค้นหาสาเหตุ วิธีการเผชิญปัญหา และฝึกการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้คำถามปลายเปิด เช่น “หนูคิดว่าที่เพื่อนมาแกล้งหนูเพราะอะไร?” “หนูคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรกันดี?” แทนการตัดสินลูก และการแนะนำการแก้ปัญหาให้ทุกอย่าง
- เมื่อทราบถึงเหตุผลที่อาจเป็นสาเหตุแท้จริงของปัญหาก็ควรสนับสนุนให้ลูกแก้ปัญหานั้น เช่น หากพบว่าลูกขาดทักษะการแสดงความรู้สึก พ่อแม่จำเป็นต้องสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งอารมณ์ทางบวก และอารมณ์ทางลบ รวมไปถึงการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม เป็นต้น
ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก?
- ลองให้โอกาสลูกนำวิธีแก้ปัญหาที่ลูกคิดได้ ไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง แล้วคอยสอบถามติดตามผลลัพธ์
- ให้เวลาคุณภาพ ให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลูกยังมีพ่อกับแม่ที่คอยช่วยเหลือเสมอ
- หมั่นประเมินปัญหา ความรุนแรงของปัญหาว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของลูกมากน้อยเพียงใด หากพบว่าปัญหาการถูกรังแก ส่งผลทำให้ลูกไม่สามารถดำเนินกิจวัตรไปได้ ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือผู้เชี่ยวชาญ
- เมื่อท้ายที่สุดแล้วลูกยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง พ่อแม่ควรมีส่วนช่วยโดยการไปพูดคุยกับครูผู้ดูแล และผู้ปกครองท่านอื่น ๆ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงระหว่างกั
น
พ่อแม่ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ เชื่อว่านอกจะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว ยังจะช่วยให้ลูกเรียนรู้และเติบโต มีทักษะการแก้ปัญหาในอนาคตอีกด้วย