วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้รังแกผู้อื่น
24 มีนาคม 2021วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้รังแกผู้อื่น
ปัญหาการรังแกกันเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน เพราะการถูกรังแกหรือการเป็นผู้รังแกเป็นเวลานานจะหล่อหลอมทำให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมได้ เช่น มีพฤติกรรมรุนแรง เครียด วิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัย ฯลฯ หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่คงไม่อยากสอนลูกให้เปให้ลูกถูกกลั่นแกล้งรังแกจนไม่มีความสุข ดังนั้นการหยุดวงจรการรังแกกันที่ดีที่สุดคือเริ่มจากการ เลี้ยงลูกไม่ให้รังแกผู้อื่น ดังนี้
1.สอนลูกให้มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น
สิ่งง่าย ๆ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนเองก็ยังไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะสิ่งนี้จะต้องถูกปลูกฝั่งมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเด็กจะเริ่มเรียนรู้เรื่องความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้เมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ โดยฝึกการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความรู้สึก” กับลูก จากสื่อการ์ตูนหรือเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เช่น
“หนูคิดว่าการที่หนูตีคนอื่น…จะทำให้เขารู้สึกอย่างไร?”
“ถ้าหนูเป็นคน ๆ นั้นที่ถูกแกล้ง หนูจะรู้สึกอย่างไร”
“หนูคิดว่าถ้าหนูได้รับความช่วยเหลือแบบที่ตัวละครตัวนั้นได้หนูจะรู้สึกอย่างไร”
อีกทั้งการสอนให้ลูกเห็นใจคนอื่นที่ดีที่สุดคือการที่พ่อแม่และคนใกล้ตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
2.หาโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือผู้อื่น
เมื่อลูกเห็นใจผู้อื่นสิ่งที่จะตามมาก็คือการช่วยเหลือผู้อื่น พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกช่วยเหลือคนอื่นได้ ตั้งแต่เล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยรับผิดชอบหน้าที่กิจวัตรประจำวันของตัวเอง ช่วยถือของ ช่วยทำงานบ้าน เป็นต้น หลังจากนั้นลูกจะเริ่มซึมซับและสนใจที่จะช่วยเหลือคนอื่น ๆ มากขึ้น
3.สอนลูกรู้จักมีความให้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ
ไม่ว่าลูกจะทำผิดเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่สิ่งสำคัญก็คือ ให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นแทนการลงโทษที่รุนแรง เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังเป็นการปลูกฝั่งความรุนแรงให้เด็กแบบไม่รู้ตัวอีกด้วย เช่น หากลูกทำน้ำหกก็ให้รับผิดชอบโดยการเช็ดทำความสะอาดด้วยตัวเอง หากลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บของเข้าที่ ให้ลูกเก็บของเล่นด้วยตัวเอง หรืออาจตั้งกติกาไว้ล่วงหน้าว่าถ้าครั้งหน้าไม่เก็บภายใน 30 นาทีหลังเล่นเสร็จจะไม่ให้เล่นของเล่นชิ้นนี้อีก เป็นต้น การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกมีความรับผิดชอบและระมัดระวังการกระทำของตนเองว่าทำไปแล้วมีผลในอนาคตเช่นไร จะทำให้ลูกมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นมากกว่าการที่พ่อแม่ผู้ปกครองคอยรับผิดชอบให้ทุกเรื่อง
4.ผู้ใหญ่ต้องไม่ “แกล้ง” เด็กเสียเอง
หากคนในครอบครัวแกล้งแหย่เด็กเป็นเรื่องปกติ แล้วให้เหตุผลว่า “ล้อเล่น” จะทำให้เด็กคุ้นชินว่าการแกล้งกันเป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ใช่เรื่องผิด ดังนั้นพ่อแม่ควรระมัดระวังการแหย่ลูกของตัวเอง โดยต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ลูกด้วยเสมอ ถ้าทำแล้วต่างฝ่ายต่างสนุกอาจจะสามารถทำได้ แต่เมื่อไรที่ลูกไม่สนุกด้วยควรขอโทษและหยุดการแกล้งทันที
ช่วยกันตัดวงจรความรุนแรงและการกลั่นแกล้งในสังคม โดยเริ่มต้นจากครอบครัวและลูกของคุณเอง เพื่อสร้างสังคมที่มีความสุขและปลอดภัย